คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 7 มิ.ย. 2553 10:24:34

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรความคุ้มครองในเรื่องของผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี และการใช้สิ่งประดิษฐ์เสื่อกก โดยมีข้อถือสิทธิว่า "1.การใช้เสื่อปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นและดูดซับความชื้นโดยเสื่อนี้ทอขึ้นจาก (ก) ต้นธูปฤาษี กกรังกา และ/หรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าโดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก (ข) เส้นเอ็นสังเคราะห์หรือเส้นด้าย" แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำกัดขอบเขตการคุ้มครองไว้เพียงเรื่องของการใช้ผลิตภัณฑ์ ในขณะที่โจทก์กล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรของจำเลยเป็นสิทธิบัตรเพื่อการใช้ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ในเรื่องของสิทธิบัตรการใช้ใหม่ (New Use Patent) นั้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้นิยามศัพท์คำว่า "สิทธิบัตร" คือหนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ "การประดิษฐ์" คือ การคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี ทั้งได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรไว้ในมาตรา 36 ว่า ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ หมายถึง สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขายเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร (2) ในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี หมายถึง สิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร จะเห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิบัตรในส่วนของการใช้ใหม่ของการประดิษฐ์ที่รู้จักอยู่แล้วไว้เป็นพิเศษต่างหากโดยชัดแจ้ง ทั้งไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการใช้ในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด สิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการออกให้แก่การใช้ใหม่ (New Use Patent) เพราะไม่มีบทกฎหมายรับรอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36
  • พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3

ผู้พิพากษา

บุญรอด ตันประเสริฐ
พลรัตน์ ประทุมทาน
รัตน กองแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android