คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5750/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 5 มี.ค. 2553 16:07:43

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ดังนั้น ขณะกระทำความผิดจำเลยคงมีอายุเพียง 13 ปีเศษ เท่านั้น หาใช่ 14 ปีเศษ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนและลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 ลงโทษจำคุกแต่ได้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) แทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 และ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมซึ่งสอบถามแล้วได้ความว่าจำเลยจะนำรถจักรยานยนต์ไปขับเล่นประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยช่วยซ่อนเร้น จำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกา
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74

ผู้พิพากษา

สุธี เทพสิทธา
เกษม วีรวงศ์
พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android