คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10274/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 29 ม.ค. 2553 13:23:08

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 จึงมีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยกับพวกหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 และทรัพย์สินอื่นที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ประเด็นจึงมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 กับทรัพย์สินอื่นตามฟ้องและมีสิทธิขอแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวจากจำเลยกึ่งหนึ่งหรือไม่ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคดีทั้งสองมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากถูกแย่งการครอบครองเกิน 1 ปี แต่คดีก็ไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 เพราะจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 เป็นของจำเลย จำเลยมิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ ซึ่งการแย่งการครอบครองนั้น จำเลยต้องยอมรับก่อนว่าที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 เป็นของโจทก์ แต่จำเลยแย่งการครอบครอง การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 เป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกันโดยเหตุผลว่า ศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยแล้วว่า เป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน ผลของคำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยมิให้โต้เถียงสิทธิในที่ดินพิพาทอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่าไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร กลับฎีกาว่าที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 เป็นของจำเลยโดยอ้างพยานและเหตุผลอื่น ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เมื่อกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ท. จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และจำเลย นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนบริษัท แม้จำเลยจะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ก็เป็นเพียงผู้บริหารในนามบริษัทไม่ใช่บริหารเป็นการส่วนตัว ทั้งมีบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของในบริษัท ท. ด้วย การที่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น แล้วโจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยแบ่งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท ท. จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องเรียกเอาส่วนของโจทก์จากหุ้นที่จำเลยถืออยู่ในบริษัท ท. เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของบริษัท ท. มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรของบริษัท ท. ทั้งสองกรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1356
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1200
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213

ผู้พิพากษา

เกรียงศักดิ์ คงผล
มานัส เหลืองประเสริฐ
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android