คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7755/2551

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ก.ค. 2553 11:41:19

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยให้บริษัทนำเที่ยวเช่ารถโดยมีการทำสัญญาจ้างขนส่งด้วยรถโดยสารปรับอากาศ และจำเลยให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถของจำเลยทำหน้าที่ขับรถให้บริษัทนำเที่ยวผู้เช่ารถ ลักษณะงานเป็นงานที่ต้องทำนอกสำนักงานของจำเลย โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวที่สั่งผ่านมัคคุเทศก์ เท่ากับจำเลยมอบการบังคับบัญชาในระหว่างปฏิบัติงานของโจทก์ให้บริษัทนำเที่ยว การทำงานล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ โดยสัญญาจ้างขนส่งกำหนดให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ ในขณะเดียวกันจำเลยก็ยังคงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงินเดือนซึ่งเป็นค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานขับรถอันมีลักษณะที่ทำนอกสำนักงานของจำเลยอยู่แล้ว ส่วนเงิน "ค่าเบี้ยเลี้ยง" ที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายหรือจ่ายผ่านมัคคุเทศก์ให้โจทก์เป็นเงินที่จ่ายตามสัญญาจ้างขนส่ง ตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งและอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบริษัทนำเที่ยวที่เรียกว่า "ค่าล่วงเวลา" นั่นเอง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในการทำงานล่วงเวลาแต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ดังนั้นเงินที่เรียกว่า "ค่าเบี้ยเลี้ยง" หรือ "ค่าล่วงเวลา" ก็คือ "ค่าตอบแทน" การทำงานล่วงเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายค่าล่วงเวลา (ค่าตอบแทน) เหมาจ่ายให้โจทก์ในอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานของโจทก์ และจ่ายให้แม้วันที่โจทก์ไม่ได้ทำงานล่วงเวลาก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาจ้างขนส่ง ไม่ทำให้เงินดังกล่าวกลายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายตอบแทนการที่โจทก์ออกไปทำงานนอกสำนักงานของจำเลย เมื่อโจทก์ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65

ผู้พิพากษา

ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
จรัส พวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android