คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2929/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 16 ก.ย. 2552 14:47:45

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคทั้งสี่ให้ดำเนินคดีแทนแล้วโจทก์จึงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีอำนาจฟ้องคดีแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง กรณีไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจตามฎีกาของจำเลย
คดีนี้โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแล้ว จึงเป็นกรณีที่พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีเอง มิใช่ผู้บริโภคเป็นผู้ฟ้อง ผู้บริโภคจึงไม่จำต้องแต่งตั้งพนักงานอัยการให้ฟ้องคดี
แม้สัญญาจะซื้อจะขายมิได้ระบุว่าจำเลยต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จเมื่อใด แต่ผู้บริโภคตกลงจะซื้อบ้านตั้งแต่ปี 2536 และผ่อนชำระเงินดาวน์เรื่อยมาจนครบตามสัญญาในปี 2538 ประกอบกับสัญญาระบุว่า ผู้จะขายจะจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินได้ภายหลังจากผู้บริโภคชำระเงินดาวน์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ดังนั้น จึงเป็นการคาดการณ์ของคู่สัญญาได้ว่าจำเลยจะต้องก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในปี 2539 หรือ ปี 2540 เป็นอย่างช้า แต่จำเลยกลับก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและละทิ้งการก่อสร้างจนถึงปี 2546 โดยจำเลยไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อแต่ปล่อยทิ้งร้างไว้ถึง 5 ปี จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ระบุทำนองเดียวกันว่าให้ผู้บริโภคชำระเงินดาวน์ 15 งวด เมื่อผู้บริโภคชำระเงินดาวน์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคย่อมเกิดขึ้นเมื่อได้ชำระเงินดาวน์ครบถ้วน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ซึ่งนับจากวันครบกำหนดชำระเงินดาวน์ของผู้บริโภคจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ผู้พิพากษา

วิเชียร มงคล
ชาลี ทัพภวิมล
ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android