คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยขายสร้อยให้ผู้เสียหาย 4 เส้นในราคา 100 บาทเศษแต่จำเลยกลับหยิบเอาธนบัตรฉบับละ 500 บาทจำนวน 1 ฉบับจากในกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปโดยพลการในทันทีที่ผู้เสียหายเปิดกระเป๋าสตางค์ ซึ่งผู้เสียหายยังมิทันได้หยิบธนบัตรดังกล่าวส่งให้จำเลย แล้วจำเลยก็หลบหนีไปเช่นนี้ การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งหรือเข้าใจผิดเพราะสื่อความหมายกันไม่รู้เรื่องแต่อย่างไร การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าจำเลยจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) บัญญัติว่า พนักงานสอบสวน หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน มาตรา 18 วรรคสองก็บัญญัติให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปในจังหวัดพระนครและธนบุรีมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน และประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่5 ตุลาคม 2515 ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2508 ข้อ 8 กำหนดให้กองปราบปรามมีเขตอำนาจการรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร เมื่อได้ความว่าความผิดเกิดบริเวณท่าช้างวังหลวงในกรุงเทพมหานครร้อยตำรวจโทส. ซึ่งรับราชการตำแหน่งรองสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 8 กองปราบปรามจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแม้กรมตำรวจวางระเบียบไว้ว่า กองปราบปรามจะทำการสอบสวนความผิดอาญาได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งหรืออนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจหรือรองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจก็ตาม ก็เป็นเรื่องภายในของกรมตำรวจดังนั้นเมื่อร้อยตำรวจโท ส. ได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้วถึงแม้ว่าจะได้รับอนุญาตภายหลังจากร้อยตำรวจโท ส. สอบสวนคดีนี้เสร็จแล้วการสอบสวนที่ร้อยตำรวจโท ส. กระทำแต่ต้นย่อมชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง.