คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 3 โดยมีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอน จำเลยที่ 3 เอาประกันภัยรถยนต์คันนี้ไว้กับจำเลยที่ 4 กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความว่า 'บริษัทจะถือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง.........' ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยและมีฐานะเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยเอง จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย (อ้างฎีกาที่ 3583/2529) ส่วนจำเลยที่2 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้าง สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรถและเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น ไม่ได้ความว่าเป็นผู้ครอบครองด้วย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัย เท่ากับจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 4 เองนั้น โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

ถวิล ทองสว่างรัตน์
จุนท์ จันทรวงศ์
ปชา วรธรรมพินิจ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android