คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2531

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2) มิได้บัญญัติไว้ว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอ้างเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยยกขึ้นอุทธรณ์ไว้ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีใจความสำคัญว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์โดยมิชอบและขอให้ยกเลิกการประเมินดังกล่าว การที่โจทก์กล่าวอ้างในชั้นศาลถึงการส่งหมายเรียกและการกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีไม่ถูกต้องนั้นก็เป็นเหตุผลที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่าการประเมินภาษีดังกล่าวไม่ชอบนั่นเอง จึงเป็นการกล่าวอ้างในเรื่องเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการเสียภาษีอากรมาไต่สวนภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการแล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 นั้น ใช้เฉพาะกรณีที่มีการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์แต่กรณีที่ไม่ยื่นรายการตามมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาบังคับ ดังนี้แม้หมายเรียกจะออกมาเกิน 5 ปี และระบุทั้งมาตรา 19 และ 23 มาด้วยก็หาทำให้การประเมินขาดอายุความไม่ รอบระยะเวลาบัญชีของห้างหุ้นส่วนโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป แต่เจ้าพนักงานประเมินไม่อาจตรวจสอบในเรื่องรอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์จากแบบที่โจทก์ยื่นเพื่อเสียภาษีในปีก่อน ๆ ได้ และเจ้าพนักงานประเมินย่อมเข้าใจว่ารอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์เป็นไปตามปกติคือเริ่มตั้งแต่วันที่1 มกราคมและสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ทั้งการประเมินดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการคำนวณภาษีซ้ำซ้อนกันหรือต้องทำให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นแต่ประการใด การประเมินภาษีอากรจึงชอบแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 19
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 23
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 30
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 65

ผู้พิพากษา

ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล
วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์
ประวิทย์ ขัมภรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android