คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2531

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เจ้าพนักงานประเมินวิเคราะห์แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีของโจทก์แล้ว ปรากฏว่ากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นทุกปีแต่กำไรสุทธิกลับลดลง เพียงเท่านี้ก็พอมีเหตุสมควรที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินเชื่อว่าการยื่นแบบแสดงรายการของโจทก์น่าจะไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจหมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวนดังที่มาตรา 19 ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ได้ ส่วนโจทก์จะมีรายจ่ายที่จะนำมา หักค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจริงหรือไม่ เป็นเรื่องในชั้น ไต่สวนตรวจสอบคนละขั้นตอนกับในชั้นหมายเรียกมาทำการไต่สวนตรวจสอบ ตามมาตรา 19 จึงไม่ทำให้อำนาจการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน เสียไปแต่ประการใด และการที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกใน กรณีนี้ แม้เจ้าพนักงานประเมินได้ระบุมาตรา 19,23 มาด้วยกัน ในหมายเรียกก็หาเป็นเรื่องที่ขัดกันไม่ แต่เป็นการอ้างมาตรา 23 เกินเลยมาเท่านั้น ไม่ทำให้หมายเรียกที่มีเหตุที่จะเรียกได้ตาม มาตรา 19 ตามที่กล่าวแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ประกอบกิจการนำสินค้าประเภทกระติกน้ำและเครื่องแก้วเข้ามาจำหน่าย อันเป็นธุรกิจที่จะต้องจัดทำบัญชีตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 เรื่องการบัญชี โจทก์ผู้มีหน้าที่จัดทำ บัญชีจึงต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจนั้นจะเก็บรักษา ณ สถานที่อื่น โจทก์ผู้มีหน้าที่ จัดทำบัญชีจะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังที่กำหนดไว้ในข้อ 13 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนั้น มิฉะนั้นมีความผิดต้องรับโทษตามข้อ 23 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับเดียวกันการที่อธิบดีกรมการค้ายังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ก็มีผลเท่ากับว่า ในขณะนั้นยังไม่อนุญาตให้เก็บรักษาบัญชีไว้ ณ สถานที่อื่น นอกสถานที่ประกอบธุรกิจ การที่โจทก์นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่อื่นจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เมื่อเกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้บัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีที่นำไปไว้ถูกไฟไหม้ไปด้วย โจทก์จะอ้างเอาเหตุนั้นอันเนื่องจากการฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์มาเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบตามหมายเรียกหาได้ไม่ ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(2)พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง กรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจึงมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ที่มีอำนาจดำเนินคดีในศาลให้แก่ผู้อื่น จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งในคำพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแทนจำเลยตามที่เห็นสมควรดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติไว้ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 19
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 23
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 83 ตรี
  • พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11
  • พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 11
  • พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 11

ผู้พิพากษา

เดชา สุวรรณโณ
วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์
ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android