คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3931/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยยื่นบัญชีพยานจำเลยในวันสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน บัญชีพยานดังกล่าวอ้างตัวจำเลยทั้งสามซึ่งแม้เป็นกรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ กฎหมายก็ยังให้จำเลยเบิกความเป็นพยานตนเองได้ และปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่าเหตุที่ไม่ได้ยื่นบัญชีพยานตามกำหนด เพราะทนายจำเลยติดการประชุมสภาจังหวัด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีพยาน โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสามจึงชอบแล้ว
จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วโดยอ้างว่ายังบกพร่องอยู่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โจทก์แถลงคัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ เพิกถอนคำสั่ง แล้วสั่งใหม่ว่าสำเนาให้โจทก์ โจทก์แถลงคัดค้าน เมื่อศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตใหม่ โจทก์ไม่ได้คัดค้านคำสั่งนี้ไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหลานเจ้ามรดก มีสิทธิรับมรดกแทนที่มารดาโจทก์ เจ้ามรดกมีที่ดิน 3 แปลงได้ยกให้โจทก์ก่อนเจ้ามรดกตาย โจทก์ครอบครอง ตลอดมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนที่ดินทั้ง 3 แปลง แก่ จำเลยที่ 3 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินทั้ง 3 แปลงเป็นของโจทก์ และเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลย เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินทั้ง 3 แปลงเป็นมรดกและเจ้ามรดกมิได้ยกให้โจทก์แต่โจทก์เป็นทายาท มีสิทธิรับมรดกแทนที่มารดาโจทก์ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยเฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิรับมรดก และให้โอนที่ดินที่เพิกถอนนั้นแก่โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 226
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

สาระ เสาวมล
สหัส สิงหวิริยะ
เสวก จันทร์ผ่อง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android