คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1859/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ข้อที่จำเลยให้การว่าโจทก์ได้กระทำการอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตน ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงจงใจขัดคำสั่งหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของโจทก์ นั้น จำเลยมิได้แสดงข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ได้กระทำการอย่างไร หรือขัดคำสั่งหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานในเรื่องใด เป็นคำให้การไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ไม่มีประเด็นที่จำเลยนำสืบ ส่วนคำให้การเรื่องข่มขู่อาฆาตจะทำร้ายหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของโจทก์และข่มขู่จะทำความเสียหายแก่เครื่องจักรของจำเลย มีความหมายอยู่ในตัว โจทก์ย่อมเข้าใจ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การว่า การข่มขู่กล่าวด้วยถ้อยคำอย่างไรก็เป็นรายละเอียดซึ่งอาจนำสืบได้ คำให้การของจำเลยข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทสำหรับคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่เคยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าข้อตกลง หากทำเกินข้อตกลง จำเลยก็ได้จ่ายค่าทำงานดังกล่าวไปแล้ว เป็นคำให้การที่ปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง จึงมีประเด็นข้อพิพาท แม้จำเลยจะมิได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุแห่งการปฏิเสธอันทำให้ไม่มีสิทธิสืบหักล้าง แต่โจทก์ก็มีหน้าที่สืบให้สมฟ้อง จะอ้างว่าจำเลยยอมรับตามฟ้องโดยโจทก์ไม่ต้องสืบพยานหาได้ไม่.
แม้สัญญาจ้างจะกำหนดให้โจทก์ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงก็ตามเป็นเพียงคู่สัญญาตกลงกำหนดจำนวนชั่วโมงในการทำงานสำหรับวันหนึ่ง ๆ ไว้เท่านั้นกำหนดเวลาดังกล่าวอาจเป็นกำหนดเวลาทำงานตามปกติของลูกจ้างทั้งหมดก็ได้หรืออาจรวมทั้งกำหนดเวลาที่นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างด้วยก็ได้ เมื่อสัญญาจ้างข้อหนึ่งกำหนดว่า เวลาทำงานที่เกินวันละ 8 ชั่วโมงให้ได้รับค่าล่วงเวลา เวลาที่เกินนี้จึงเป็นการทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติค่าล่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ไม่ต้องนำมารวมกับค่าจ้างพื้นฐาน เพื่อคำนวณเงินประเภทต่าง ๆ
โจทก์ข่มขู่จะก่อวินาศกรรมแก่เครื่องจักรกลของจำเลยนั้นไม่ปรากฏระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดเป็นความผิดหรือโทษไว้ คงมีเฉพาะกรณีที่โจทก์ข่มขู่จะทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลย ที่ระบุว่า 'ข่มขู่ลูกจ้างอื่น' ซึ่งกำหนดโทษลูกจ้างผู้กระทำผิดไว้หลายระดับ เช่น ตักเตือน ลดเงินเดือนพักงาน หรือไล่ออกจากงาน มิได้กำหนดโทษขั้นไล่ออกจากงานไว้สถานเดียว แสดงว่า แม้ลูกจ้างกระทำผิดดังกล่าวจำเลยก็มิได้ถือเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรงอย่างเดียวจึงได้กำหนดโทษไว้หลายระดับ ทั้งการที่โจทก์กล่าวคำข่มขู่ดังกล่าวก็เพียงเพื่อยับยั้งมิให้จำเลยจัดส่งโจทก์ไปทำงานที่อื่น หามีเจตนาที่จะกระทำการตามที่ข่มขู่ การกระทำของโจทก์ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) และไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกกล่าวล่วงหน้า.
ตามสัญญาจ้างซึ่งกำหนดเงินเดือนพื้นฐานเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า 'เดือน' ไว้ว่า ให้หมายถึงระยะเวลาซึ่งเริ่มต้นในวันแรกของเดือนใด ๆ ในปฏิทินและสิ้นสุดในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ ตามปฏิทินดังนั้น เงินเดือนพื้นฐานซึ่งจำเลยจะจ่ายเป็นรายเดือนเต็มจำนวนให้แก่โจทก์นั้นโจทก์ต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยเต็มเดือน กรณีที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยไม่เต็มเดือน เงินเดือนพื้นฐานย่อมลดลงตามส่วน แม้โจทก์จะทำงาน 14 วัน หยุด 14 วันและในเดือนที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโจทก์ทำงานครบ 14 วันแล้วก็ตาม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างพื้นฐานเต็มเดือน เพราะสัญญาจ้างมิได้กำหนดให้สิทธิแก่โจทก์เช่นนั้น
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 2
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 47

ผู้พิพากษา

เพียร สุมิระ
สมบูรณ์ บุญภินนท์
สุพจน์ นาถะพินธุ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android