คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1495/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้ปลัดเทศบาลเมือง จำเลยที่ 5 จดข้อความลงในทะเบียนบ้านว่า โจทก์ทั้งหกเป็นญวนอพยพ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 และปลัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ต้องรับผิดร่วมด้วย ดังนี้ แม้การถอนสัญชาติไทยจะเป็นผลของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มิใช่เป็นการกระทำของจำเลย แต่ก็เป็นการโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพราะจำเลยเพิกถอนสัญชาติ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนาง ด. คนสัญชาติไทย เกิดกับ อ. คนสัญชาติญวน โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 เกิดกับ ม. คนสัญชาติญวน ส่วนโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 เกิดกับ น.โจทก์ทั้งหกเกิดในราชอาณาจักรไทยและบิดาของโจทก์ทุกคนเป็นบิดาที่มิชอบด้วยกฎหมาย เช่นนี้ โจทก์ที่ 1 ไม่ถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 เพราะ อ. เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทย โดยเหตุที่บิดาเป็นคนต่างด้าว ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อโจทก์ที่ 1 มารดาของโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่คนต่างด้าว และ ม. ก็มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 (2) อันจะเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ถูกถอนสัญชาติไทย กรณีเช่นเดียวกับ โจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 6 ที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดามิได้เป็นคนต่างด้าว จึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทยเช่นกัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7
  • ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มาตรา 1

ผู้พิพากษา

โสภณ รัตนากร
ไพรัช วงศ์วัฒนะ
วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android